ตลอดระยะเวลา 37 ปี 9 เดือน 5 วัน ที่รับราชการเป็นครู โดยเป็นครูที่สอนวิชาคณิตศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ มีอะไรหลายอย่างได้เรียนรู้มากมาย เป็นครูคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว จะมาเล่าสู่กันฟัง
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
6 ตุลาคม 2565
คอมพิวเตอร์ในสตรีศรีสุริโยทัย เด็กยุค 90s ที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น
ขวบปีแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 “เด็กยุค 90s ตัวจริง” โรงเรียนในเขตยานนาวา จำนวน 3 โรงเรียนได้รับคอมพิวเตอร์ถึง 10 เครื่องเพื่อใช้สอน “งานงอกละ เครื่องที่คล้าย ๆ ทีวีนี้มันยังไง” โรงเรียนจะรับไว้ดีหรือไม่ แล้วใช้งานยังไง “เปิดเหมือนทีวีหรือเปล่านะ” วันแรกผ่านไป เดินผ่านก็มองกันตาปริบ ๆ วันที่สองก็แล้ว “เอาเถอะ” วันที่สามนี่แหละฤกษ์งานยามดีสุด ผม (ครูพูนศักดิ์ ผู้สอนคณิตศาสตร์) จึงตัดสินใจรับไว้เอง “รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง เล่นของสูงแล้วเรา” ต่อสาย เสียปลั๊ก แล้วพาวเวอร์ ออน เดินหน้ากันเลย ผมเริ่มศึกษาวิธีการใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง และแบ่งปันความสนุกจากเทคโนโลยีหน้าใหม่นี้ด้วยการนำมาใช้ในห้องเรียน ปีถัดมาหลังจากรับคอมพิวเตอร์หน้ามนไว้ดูแล โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยก็ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแรกๆในประเทศไทยที่มีการสอนคอมพิวเตอร์ทั้งที่ยังไม่ได้รับการบรรจุในหลักสูตรฯ จากเดิมที่ผมสอนคณิตศาสตร์วันละสี่ชั่วโมง ผมอาสาสอนคอมพิวเตอร์เพิ่มอีกวันละสี่ชั่วโมงไปเลย “งานงอกของจริง” ช่วงปี พ.ศ. 2528 - 2540 ช่างเป็นสี่ชั่วโมงที่สนุกและคุ้มค่ากับความพยามยามผลักดันอย่างแท้จริง
วัยเตาะแตะของคอมพิวเตอร์ในสตรีศรีสุริโยทัย (พ.ศ. 2528 - 2542)
ชั้นเรียนแรกของครูคอมพิวเตอร์มือใหม่กับนักเรียนใจกล้าที่อาสาเข้าเรียนแบบสมัครใจ ไม่มีหน่วยกิต เริ่มต้นด้วยการเขียนโปรแกรมภาษาจีดับบิวเบสิก (GW-BASIC) ด้วยความเป็นครูสื่อต้องพร้อมเดี๋ยวจะดูไม่โปรฯ (Professional) ผมจึงเริ่มจัดทำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหรือ CAI (Computer Assisted Instruction) รวมถึงขยายเครือข่าย “งานงอกเพื่อนครู” จัดอบรมคุณครูให้ใช้โปรแกรมราชวิถีเวิร์ดพีซีหรือเวิร์ดราชวิถี ซียูไรเตอร์หรือเวิร์ดจุฬาในการพิมพ์เอกสาร สื่อการสอน และใบความรู้ เมื่อคุณครูทั้งหลายหลวมตัวแล้วผมก็เหยียบคันเร่งต่อด้วย Word 1.1, Excel 2.0 และ Power Point 2.0
วัยรุ่นต้องมีแล้วไหมกับเว็บไซต์โรงเรียน 101 (พ.ศ. 2543 - 2548)
รู้หรือไม่ suriyothai.net คือโดเมนเนมแรกของโรงเรียนก่อนจะเปลี่ยนเป็น suriyothai.ac.th ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ช่วงเวลานั้นเว็บ 1.0 เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดที่ทำให้เราได้เชื่อมโยง บอกเล่าเรื่องราวกับบุคคลต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ตโดยอาศัยโมเดม การ์ดชั่วโมงเน็ตแบบขูดแล้วหมุนผ่านโทรศัพท์บ้านในสมัยนั้นนั่นแล ผมนำเครื่องมืออย่าง FrontPage, Namo Web Editor, Dreamweaver สอนให้นักเรียนสร้างเว็บเพจของตนเองด้วยภาษา HTML แล้วนำขึ้นเผยแพร่ผ่าน WWW นักเรียนตื่นเต้นกันมากที่มีคนมาชมผลงานของเขาจากยอดผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสิบ เป็นร้อย เป็นพัน หมื่น แสน ล้าน เราจึงมีแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนเผยแพร่บนเว็บไซต์มากกว่าปีละ 100 เรื่อง
เทคโนโลยีก้าวกระโดดโรงเรียนก็พร้อมก้าวไป (พ.ศ. 2549 - 2561)
ครูและนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนช่วงเวลานั้นจะเห็นว่าห้องคอมพิวเตอร์เดิมที่เป็นห้องเรียนธรรมดาสามห้องยาวตลอดชั้นสามของอาคารญาณีได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เสมือนเป็นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาใช้ ศึกษาหาความรู้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหารและผู้ปกครองนักเรียนทำให้เราฉีกกฎห้องเรียนแบบเดิมได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ผมได้ปรับเว็บไซต์โรงเรียนเป็นเว็บ 2.0 เปลี่ยนการสอนเว็บ HTML แบบเดิมเป็นการสอนให้นักเรียนจัดทำสื่อออนไลน์ รู้จักการใช้บล็อก (Blog) สร้างแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน “พูดไปก็จะหาว่าโม้” เราเป็นโรงเรียนแรกที่นำเทคโนโลยี QR Code มาใช้กับการศึกษา ต้นไม้ ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งหมดสังเกตจาก QR Code ที่ติดอยู่ทั่วบริเวณโรงเรียน ช่วงเวลานั้นสามารถรวบรวมแหล่งเรียนรู้ได้มากกว่า 5,000 เรื่อง ทางฟากฝั่งครูก็ไม่น้อยหน้า คุณครูในโรงเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระฯ ระบบอีเมลที่เป็น @suriyothai.ac.th โรงเรียนเรามีโอกาสได้ใช้ทั้งของ Outlook และ Google ซึ่งผมประสานโดยตรงกับผู้บริหารของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และกูเกิลในสหรัฐอเมริกาจนเกิดเป็นโครงการ Google for Education ในประเทศไทย ตอนนั้นก็ยิ้มหวานกันเลยครูและนักเรียนทุกคนได้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลอย่างไม่จำกัดเพื่อใช้ในการจัดเรียนรู้กันไปถ้วนหน้า
คอมพิวเตอร์ในสตรีศรีสุริโยทัยว่าไปก็ดังอยู่นะ ตัวอย่างความภาคภูมิใจ
โรงเรียนได้รับรางวัลระดับประเทศ เช่น หนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรมเหรียญทองระดับยอดเยี่ยม 2 ปีซ้อน เว็บไซต์โรงเรียนได้รับรางวัล WEB MEDIA ระดับประเทศ 2 ปีซ้อน
โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นตัวแทนในการนำเสนอผลงานด้านการใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ ทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ เช่น The International Science, Mathematics and Technology Education Conference (ISMTEC) 2013
โรงเรียนจัดการเรียนรู้ออนไลน์ระหว่างโรงเรียนพี่และโรงเรียนน้องกับโรงเรียนในประเทศเกาหลีใต้ภายใต้โครงการของ APEC เป็นเวลา 5 ปี
โรงเรียนได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์ให้กับครูและนักเรียน เช่น สสวท. ให้เป็นศูนย์จัดค่ายยุวคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนทั่วประเทศเป็นเวลา 4 ปี ศูนย์ สอวน. ให้เป็นศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ค่าย 1 เป็นประจำทุกปี
ครูในโรงเรียนได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติด้านการใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ เช่น Best ALCoB Award จาก The Institute of APEC Collaborative Education (IACE), Innovative Teachers Leadership Award, Thailand STEM Teacher Awards
นักเรียนในโรงเรียนได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติในการใช้ ICT เช่น 2nd Place of The 3rd e-ICON World Contest from Chairman of Institute of APEC Collaborative Education's Award
บนทางเดินย่อมมีอุปสรรค
ระยะเริ่มแรกคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนยังไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไร้ประโยชน์ จึงไม่ได้รับการสนับสนุนให้จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เท่าที่ควรโดยเฉพาะจากทางภาครัฐ ในอีกด้านสมาคมศิษย์เก่าศรีสุริโยทัยสมาคม นำโดยนายกสมาคม คุณไพฑูรย์ กระจ่างศิลป์ และคณะกรรมการ กลับมีวิสัยทัศน์อยากให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนมีความรู้ทางเทคโนโลยี เท่าทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตจึงร่วมกันออกเงินส่วนตัวจัดซื้อคอมพิวเตอร์จำนวน 10 เครื่อง มูลค่ากว่า 250,000 บาท ทดแทนเครื่องเก่าที่ได้รับมา เมื่อหมดปัญหาเรื่องฮาร์ดแวร์ อีกอุปสรรคหนึ่งคือการที่วิชาคอมพิวเตอร์เดิมไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร จึงไม่มีใครอยากทำการสอนนักเรียนเพราะเป็นการเพิ่มภาระงาน ไม่มีความดีความชอบ ทั้งยังต้องใช้พลังเยอะเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ครูที่สอนต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาเช่นกัน จากวันแรกจนถึงวันนี้ด้วยความร่วมมือกันของสมาคมฯ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง เราสตรีศรีสุริโยทัยก็สามารถก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายมาได้อย่างดงงาม
เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนครูได้ แต่ครูต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี